วิธีกินอาหารเมื่อเป็นโรคมะเร็ง

ในปัจจุบันผู้ป่วยมะเร็งมักได้รับการบอกเล่าหรือได้รับความรู้มาผิดๆว่า ควรเลือกรับประทานแต่อาหารจำพวกผัก เนื้อปลา  เพราะมะเร็งชอบอาหารโปรตีนจากเนื้อสัตว์ชนิดอื่น ทำให้ผู้ป่วยหลายรายต้องประสบกับภาวะขาดสารอาหาร จนน้ำหนักลด ทนการรักษาได้น้อยลง ทำให้การรักษาไม่เป็นไปตามแผน ให้ผลการรักษาไม่ดีเท่าที่ควร

นพ.กสานติ์  สีตลารมณ์  แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แผนกมะเร็งวิทยา กองอายุรกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และกรรมการมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย บอกว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็ง ความต้องการอาหารจะแตกต่างจากคนปกติ เพราะผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีการต่างๆ เช่นการผ่าตัด การฉายรังสี การับยาเคมีบำบัด ซึ่งต้องการสารอาหารเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ เพื่อซ่อมแซมเซลล์ปกติ และช่วยให้ร่างกายสามารถรับการรักษาได้ครบถ้วนถามแผนที่แพทย์ได้วางไว้ นอกจากนี้ โรคมะเร็งหรือวิธีการรักษาอาจมีผลทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น อาการคลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย เบื่ออาหาร แผลอักเสบเยื่อบุช่องปากหรือหลอดอาหาร ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งมีแนวโน้มที่จะขาดสารอาหาร และมีน้ำหนักตัวลดลง ดังนั้น ควรพยายามรักษาน้ำหนักตัวให้คงที่ในระหว่างการรักษา ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และมีสารอาหารครบถ้วนตามความต้องการของร่างกาย

เซลล์มะเร็งเป็นเซลล์ในร่างกายของผู้ป่วย แต่มีความสามารถบางอย่างสูงกว่าเซลล์ปกติ แม้ผู้ป่วยจะอดอาหารโดยไม่รับประทานอะไรเลย เซลล์มะเร็งก็ยังมีความสามารถในการเจริญเติบโตได้ ที่สำคัญยังไม่เคยมีหลักฐานว่าการเลือกรับประทานอาหารจะทำให้เซลล์มะเร็งโตช้าลงหรือฝ่อลง เนื้อสัตว์หนึ่งคำที่รับประทานเข้าไป ย่อมกระจายไปสู่เซลล์ต่างๆ ทั่วร่างกาย ไม่ได้เลือกที่จะวิ่งไปสู่ก้อนมะเร็งเพียงที่เดียว ถ้าร่างกายไม่แข็งแรง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นของโรคมะเร็งตามมาอีกด้วย

สรุปอาหารที่ควรรับประทานเมื่อเป็นมะเร็ง คือ

อาหารที่มีคุณค่าทางอาหารครบถ้วนทั้ง 5 หมู่ ปรุงสุก สะอาด ไม่ใช่เลือกรับประทานอาหารเพียงชนิดใดชนิดหนึ่ง

ไม่ควรงดโปรตีนจากเนื้อสัตว์ เพราะจะทำให้ผู้ป่วยมีภาวะขาดสารอาหาร ทำให้ทนต่อการรักษาโรคมะเร็งวิธีต่างๆได้ไม่ดี แต่อาจเลี่ยงการรับประทานผักสด รหือผลไม้ที่ต้องกัดกินทั้งเปลือก เพราะอาจใช้ปุ๋ยคอกรด ทำให้อาจมีเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อนได้ ถ้าต้องการรับประทานจริงๆ ต้องล้างอีกรอบด้วยน้ำยาล้างผักผลไม้ หรือผักควรต้มให้สุกก่อน

หากมีอาการเบื่ออาหาร รับประทานได้น้อย ควรเพิ่มอาหารว่างในระหว่างมือ เช้า บ่าย และก่อนนอนด้วย เช่น ผลไม้ คุกกี้ น้ำเต้าหู้ ไอศกรีม โยเกิร์ต จะช่วยให้ผู้ป่วยได้พลังงานมากขึ้น และควรมีอาหารเบาๆ ติดไว้ข้างเตียงเสมอ เมื่อผู้ป่วยรู้สึกอยากอาหารจะได้หยิบมารับประทานได้ทันที

อาหารก่อมะเร็งที่ควรเลี่ยง คือ อาหารที่ทำจากปลาน้ำจืดดิบ เช่น ปลาร้า ส้มฟัก เพราะอาจมีตัวอ่อนของพยาธิใบไม้ตับอาศัยอยู่ อาหารประเภทเนื้อสัตว์ที่ถนอมด้วยการใส่ดินประสิว เช่น ไส้กรอก แหนม เนื้อเค็ม อาหารประเภทเนื้อสัตว์ที่ปิ้งย่างจนเกรียมไหม้ อาหารที่มีไขมันสูง เช่น ของทอดด้วยน้ำมันชนิดต่างๆ โดยเฉพาะน้ำมันทอดซ้ำ อาหารที่มีเชื้อราปนเปื้อน เช่น ถั่วลิสง พริกป่น อาหารที่มีสีฉูดฉาดอาจผสมสีย้อมผ้า อาหารที่ใส่สารบอแรกซ์ สารฟอกขาว ฟอร์มาลิน อาหารเหล่านี้ยิ่งกินเยอะกินนาน โอกาสเสี่ยงที่จะเกิดโรคมะเร็งก้สูงขึ้น

นพ.กสานติ์ กล่าวว่า คำถามที่พบบ่อยจากผู้ป่วยโรคมะเร็ง เช่น บางคนถามว่ารับประทานอาหารทะเลได้หรือไม่ คำตอบคือ ถ้าทำให้สุกก็รับประทานได้ แต่ถ้าดิบๆ สุกๆ อาจจะมีเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อนได้

บางคนถามว่าอาหารหมักดองรับประทานได้หรือไม่ กรณีนี้ก็ต้องบอกว่า หากทำสะอาดก็รับประทานเป็นครั้งคราวได้ ไม่ถึงกับห้ามเด็ดขาด

อาหารอีกชนิดที่ผู้ป่วยชอบถาม คือ นม คำตอบคือ ดื่มได้ น้ำเต้าหู้ นมถั่วเหลือง ก็ดื่มได้เช่นกัน

เรื่องสมุนไพรก็มีผู้ป่วยถามเช่นกัน คำตอบคือ สมุนไพรจากธรรมชาติสามารถรับประทานได้ แต่ถ้าเป็นสมุนไพรสำเร็จรูป ไม่รู้ว่าเขาใส่อะไรบ้างแนะนำให้เลี่ยง เพราะนอกจากไม่รู้ว่าจะได้ประโยชน์หรือไม่ ยังมีโอกาสที่จะเกิดผลข้างเคียงหรือโทษได้

ช่วงให้เคมีบำบัด ผู้ป่วยมักจะมีอาการเบื่ออาหาร รับประทานได้น้อย ขาดทั้งแคลอรี่ และความเชื่อที่ว่าไม่ควรบริโภคเนื้อสัตว์ก็จะขาดโปรตีนด้วย ดังนั้นช่วงให้เคมีบำบัด แนะนำให้รับประทานอาหารที่มีแคลอรี่มากพอ รับประทานโปรตีนเท่ากับหรือสูงกว่าคนปกติเล็กน้อย โดยแคลอรี่ได้จาก 3 ส่วน คือ แป้ง เนื้อสัตว์ และไขมัน โดยเนื้อสัตว์ควรเน้นเนื้อสีขาว อย่าง เนื้อปลา เนื้อไก่ไม่ติดหนัง หรือไข่ ถ้าอยากจะรับประทานเนื้อแดง เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว เป็นครั้งคราวก็ได้ ไขมันควรเลือกไขมันจากพืช เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว น้ำมันข้าวโพด

การเป็นมะเร็งทำให้ผู้ป่วยสูญเสียความมั่นใจในการควบคุมตัวเอง ควบคุมโรค จึงเหลืออยู่สิ่งเดียวที่ผู้ป่วยควบคุมได้ คือ ควบคุมอาหาร แต่บางทีขาดความรู้ที่ถูกต้อง ก็เลยโดนญาติจับอดอาหาร จึงเป็นผลเสียมากกว่าผลดี ดังนั้น อยากฝากให้ช่วยแนะนำว่า จริงๆแล้วแพทย์ไม่ได้ห้ามอะไรมากมายขนาดนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นญาติ และครอบครัวมากกว่าที่ห้ามมากกว่าแพทย์เสียอีก คงเป็นเพราะได้รับความรู้มาผิดๆ จากการบริโภคสื่อหลากหลายโดยไม่ได้คัดกรอง

หากท่านผู้อ่านยังไม่เป็นโรคมะเร็ง ควรรับประทานอาหารที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง โดยกินผักผลไม้ให้มาก ส่วนอาหารประเภทแป้ง ควรเลือกรับประทานข้างที่ไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ รับประทานน้ำตาลแต่น้อย เน้นรับประทานอาหารโปรตีนจากถั่ว ไข่ เนื้อสีขาว เช่น เนื้อไก่ เนื้อปลา ลดการรับประทานอาหารประเภทเนื้อสีแดง เช่น เนื้อหมูหรือเนื้อวัว หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

six − 2 =