วิธีตรวจลานสายตาอย่างคร่าวๆ

ลานสายตา คือ บริเวณที่สามารถมองเห็นกว้างไกลออกไปจากจุดศูนย์กลางที่ตากำลังเพ่งอยู่

โดยปกติ ในขณะที่เรากำลังอ่านหนังสือหรือเพ่งมองอะไรอยู่ ถ้ามีอะไร เช่น แมลง จิ้งจก หรือคน ผ่านเข้ามาข้าง ๆ ตัวเรา แม้จะเห็นไม่ชัดว่าเป็นอะไร ซึ่งเราจะบอกว่าเห็นอะไรแวบๆ ผ่านสายตาไป แสดงว่าสิ่งนั้นผ่านเข้ามาในลานสายตาของเรา ทำให้เรามองเห็น ถ้าผ่านไปนอกลานสายตาของเราเราจะมองไม่เห็นเลย

วิธีตรวจวัดลานสายตาที่ได้ผลดีที่สุด คือ ใช้เครื่องมือตรวจลานสายตา แต่ถ้าไม่มีเราอาจใช้วิธีตรวจลานสายตาเบื้องต้นอย่างง่ายๆ โดยอาศัยหลักว่าใช้ตาผู้ตรวจเทียบกับตาผู้ถูกตรวจ ซึ่งเป็นการทดสอบอย่างคร่าวๆ ที่แพทย์ทั่วไป ตลอดจนประสาทแพทย์ใช้กัน

วิธีการใช้ตาผู้ตรวจเทียบกับตาผู้ถูกตรวจ สามารถทำได้ดังนี้

–         ผู้ตรวจและผู้ถูกตรวจนั่งหันหน้าเข้าหากัน โดยอยู่ห่างกันประมาณ 1 เมตร

–         ถ้าต้องการตรวจลานสายตาขวา ผู้ถูกตรวจต้องใช้มือซ้ายปิดตาซ้ายไว้ แล้วใช้ตาขวาจ้องตาซ้ายของผู้ตรวจ

–         ผู้ตรวจใช้มือขวาปิดตาขวาของตนไว้ แล้วใช้ตาซ้ายจ้องตาขวาของผู้ถูกตรวจ

–         ผู้ตรวจยื่นนิ้วชี้มือซ้ายออกไปจนสุดแขน โดยให้นิ้วชี้อยู่แนวกลางระหว่างผู้ถูกตรวจกับผู้ตรวจ นั่นคือ อย่าให้นิ้วชี้อยู่ใกล้ผู้ถูกตรวจมากกว่าหรือน้อยกว่าผู้ตรวจ

–         กระดิกนิ้วชี้น้อยๆ แล้วค่อยๆ เลื่อนนิ้วชี้เข้ามาใกล้ตาอย่างช้าๆ เมื่อใดที่ผู้ถูกตรวจเริ่มเห็นนิ้วชี้นั้นทั้ง ๆ ที่ยังจ้องตาผู้ตรวจอยู่ จุดนั้นคือจุดนอกสุดสำหรับลานสายตาของผู้ถูกตรวจ

–         ในขณะที่ตรวจ ผู้ถูกตรวจและผู้ตรวจจะต้องจ้องตากันตลอดเวลา ห้ามเหลือบไปมองนิ้วชี้ที่กระดิกอยู่อย่างเด็ดขาด

–         ถ้าผู้ตรวจเปลี่ยนทิศทางของนิ้วชี้ เช่น ให้เข้ามาจากด้านบนบ้าง ด้านล่างบ้าง ด้านเฉียงบ้าง ก็จะได้ลานสายตาขอผู้ถูกตรวจทุกทิศทาง

การที่จะบอกได้ว่าลานสายตาของผู้ถูกตรวจแคบกว่าปกติหรือไม่ ก็ให้เปรียบเทียบกับผู้ตรวจ ถ้าขณะที่เลื่อนนิ้วชี้จากส่วนไกลเข้ามาหาตา แล้วผู้ตรวจเห็นนิ้วนั้นก่อนผู้ถูกตรวจ ก็แสดงว่าผู้ถูกตรวจมีลานสายตาในทิศนั้นแคบกว่าผู้ตรวจ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

one + 3 =