วิธีปรับตัวในห้องสี่เหลี่ยมเพื่อลดความเครียด

ชีวิตคนเมืองกรุงที่ต้องเร่งรีบและแข่งขันกันอยู่ตลอดเวลา การเลือกคอนโดมิเนียมใกล้ที่ทำงานเป็นที่พักอาศัยก็เป็นทางออกหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาด้านการจราจรที่ติดขัดจนอาจเสียสุขภาพจิตได้ แต่ด้วยทุนทรัพย์ที่มีจำกัด การเลือกคอนโดมิเนียมที่มีขนาดพื้นที่ที่จำกัดนั้น แทนที่จะเป็นการช่วยแก้ปัญหา จะกลายเป็นเพิ่มปัญหาต่อสุขภาพจิตหรือไม่นั้น นพ.ทวี  ตั้งเสรี รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่า

ที่ผ่านมาเคยมีผู้โทรฯมาขอคำปรึกษาเนื่องจากช่วงที่มีการชุมนุมกันอย่างหนัก หรือน้ำท่วมสูง ไม่สามารถออกไปไหนได้ ต้องอยู่แต่ในห้อง ซึ่งการใช้เวลาทั้งวันอยู่แต่ในห้องแคบๆ ก็น่าเป็นห่วง เพราะเวลาอยู่อย่างนั้นนานๆ จะทำให้เกิดความเบื่อหน่าย และเกิดอาการเครียดได้ จึงให้คำแนะนำไป แต่ก็ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์การปรับตัวของผู้ที่อยู่อาศัยในคอนโดฯ ว่าจะปรับตัวอย่างไร เช่น วันหยุดก็ไม่ควรขลุกตัวทำงานอยู่แต่ในคอนโดฯ ต้องรู้จักหางานอดิเรกทำอย่างสม่ำเสมอ ไปออกกำลังกายข้างนอก หรือหาเวลาสังสรรค์กับเพื่อนบ้าง จะทำให้สามารถผ่อนคลายความเครียดลงได้

“คนที่ไม่มีเวลาไปไหนได้ ชีวิตที่ต้องทำงานอยู่แต่ที่โต๊ะทำงานจนค่ำแล้วกลับมาอยู่แต่ห้องแคบๆ จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องหากิจกรรมทำเพื่อให้ผ่อนคลาย เช่น การออกกายบริหารในท่าทางที่สามารถทำในห้องได้ เต้นแอโรบิก ซิตอัพ หางานอดิเรกทำ ปลูกต้นไม้ ดูทีวี ก็สามารถผ่อนคลายความเคร่งเครียดหรือทดแทนความเบื่อได้ อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะที่ดีที่สุด ควรหาเวลาออกมาจากห้องสี่เหลี่ยมเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ อาจมานั่งเล่นข้างนอก หรือพบปะผู้คนบ้างวันละ 15-20 นาที”

นายแพทย์ทวียังกล่าวด้วยว่า ก่อนตัดสินใจย้ายเข้ามาอยู่คอนโดฯ ต้องมีการวางแผนก่อนว่า เราชอบลักษณะทางกายภาพแบบไหน สำหรับคอนโดมิเนียมบางแห่งมีกฎกติกาในการอยู่ร่วมกันไม่สามารถปลูกต้นไม้ได้ ห้ามนำสัตว์เข้ามาเลี้ยง หรือไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก เราอาจต้องยอมรับข้อจำกัดทางกายภาพนี้ แต่ถ้าไม่ได้ตามที่เราต้องการก็ต้องยอมรับข้อจำกัดนี้ และหาส่วนอื่นมาทดแทน เช่น การไปออกกำลังกาย ที่ฟิตเนสแทน อย่าเก็บตัวอยู่แต่ในห้อง

หากจะถามว่าพื้นที่ขนาดไหนจึงจะเพียงพอ ไม่ทำให้เกิดอาการเครียดได้นั้น นายแพทย์ทวีมีความเห็นว่า หากจะกำหนดพื้นที่เป็นขนาดยังไม่มีความชัดเจน แต่ต้องมีพื้นที่มากพอเพื่อทำกิจกรรมร่วมกันได้ ถ้าอยู่กัน 2-3 คน อย่างน้อยควรจะมี 1 ห้องนอน หรือ 2 ห้องนอนกรณีที่มีลูก ห้องรับแขก และห้องครัวก็น่าจะเพียงพออย่างไรก็ตาม เห็นว่ากลุ่มคนที่มีความเหมาะสมในการอาศัยในคอนโดฯคือผู้ที่ไม่มีทุนทรัพย์เพียงพอหรือผู้ที่ต้องการอยู่ใกล้ที่ทำงานที่อยู่ใจกลางเมืองและมีความจำเป็นไม่ต้องการฝ่าฟันการจราจรที่ติดขัด ซึ่งจะทำให้เดินทางสะดวกนั่งรถไฟฟ้าไปทำงานได้ เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น

อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีที่ต้องอยู่กันเป็นครอบครัวโดยหลักการแล้ว ควรจะอยู่บ้านที่มีพื้นที่หรือมีบริเวณน่าจะดีกว่า แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ก็ต้องหากิจกรรมทำอย่างที่ได้แนะนำไว้

ส่วนกรณีเพื่อนบ้านส่งเสียงดังรบกวนนั้น รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต แนะนำว่า ถ้าทนไม่ไหวก็ต้องเปิดใจพูดคุยกับเพื่อนร่วมคอนโดฯ เช่น พูดคุยตกลงกันว่าพอจะลดเสียงลงซักนิดได้ไหม หรือเปิดเสียงในช่วงที่เราไม่อยู่ห้อง ซึ่งน่าจะพูดคุยกันได้ แต่ถ้ามีปัญหาอื่นที่แก้ไขไม่ได้ หรือพูดคุยกันไม่ได้จริงๆ ต้องขอให้ผู้ดูแลคอนโดฯ เข้ามาเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยเรื่องราว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

three × three =