วิธีจัดการความเครียดในแต่ละอาชีพ

ขึ้นชื่อว่า”งาน” แล้ว มันช่างเปี่ยมล้นไปด้วยความเครียดด้วยกันทั้งนั้นแหละ กว่าจะได้มาแต่ละบาทแต่ละสตางค์มันล้วนแล้วแต่ต้องระคนปนไปด้วยความเครียด เพราะว่าถ้ามันไม่เครียดเขาคงทำเองไปแล้ว ไม่จ้างคนอื่นให้มาทำหรอก

งานที่มีกำหนดระยะเวลา

งานของนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ และนักคิดสร้างสรรค์ทั้งหลายที่ต้องเกี่ยวพันกับเส้นตายในการส่งงาน ยิ่งใกล้ถึงเวลาส่งงานเท่าไหร่ สารอะดรีนาลีนในร่างกายก็จะหลั่งมากขึ้น ทำให้ความเครียดเพิ่มตามไปด้วย บางครั้งเวลาที่กระชั้นชิดอาจทำให้คุณมึนงงจนคิดอะไรไม่ออก จนกระทั่งเส้นตายมาถึงคุณก็ยังคิดไม่ออกอีกนั่นแหละ และความเครียดก็จะเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลร้ายต่อสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ ทางออกที่ดีที่สุดคือพักพื้นสมองสักครู่ หรือพักให้เต็มที่หลังเลิกงาน หันเหความสนใจไปกับสิ่งอื่น ๆ ที่จะทำให้คุณผ่อนคลายลงโดยไม่ต้องคิดถึงเส้นตาย แล้วค่อยกลับมาทำงานใหม่ แม้ว่าการผ่อนคลายจะยิ่งทำให้เวลาที่เหลือน้อยลงก็ตาม แต่เมื่อสมองได้พัก สองตาหันไปชมนกชมไม้ หรือลุกจากโต๊ะทำงาน อยู่ให้ห่างมันสัก 5-10 นาที ความคิดดี ๆ จะกลับคืนมา ปริมาณสารอะดรีนาลีนก็เพิ่มขึ้น คุณก็จะคิดงานออกและทำได้เร็วกว่าเดิม ยิ่งถ้าได้พักสบาย ๆ กับสายลม แสงแดดกับการพักร้อนไปเลยละก็ สมองก็จะยิ่งปลอดโปร่งมากขึ้นเท่านั้น กลับมานั่งโต๊ะทำงานอีกทีมันก็ไม่ทำให้คุณปวดหัวแล้วล่ะ

งานที่มีต้องใช้ความเสี่ยงในการตัดสินใจ

นักธุรกิจและบรรดาเจ้านายระดับบริหารมักจะต้องเผชิญหน้ากับความเครียดลักษณะนี้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจในนโยบายบริษัท การตัดสินใจลดทุนหรือเพิ่มทุน หรือจะนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ก็ตาม ทางออกก็คือฟังดนตรีคลายเครียดบางครั้งก่อนตัดสินใจ ผู้บริหารอาจจำเป็นต้องทำตัวเป็นศิลปินสวมวิญญาณศิลปินที่สนใจงานศิลปะบ้าง โดยเฉพาะดนตรี เพราะเสียงดนตรีช่วยทำให้สมองโปร่งโล่งขึ้น และเหมาะสำหรับการผ่อนคลายความเครียดของผู้บริหารที่ต้องใช้การตัดสินใจภายใต้ความละเอียดรอบคอบ แต่มีข้อแม้ว่าคุณควรฟังดนตรีบ่อย ๆ ไม่ใช่ฟังเฉพาะตัดสินใจเท่านั้น ฟังให้เป็นนิสัยในช่วงหลังเลิกงานนั่นแหละ ฝึกไว้เพื่อเป็นการเรียนรู้วิธีบำบัดจากเสียงดนตรีให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น

งานที่ต้องยิ้มเพื่อให้บริการคนอื่น

ผู้ที่ประสบปัญหานี้ก็คือพนักงานขาย พนักงานต้อนรับ พนักงานบริการ และงานทั้งหลายที่คุณต้องพบปะผู้คนด้วยรอยยิ้ม ทั้งที่บางครั้งคุณแทบจะยิ้มไม่ออกก็จำเป็นต้องสวมหน้ากากยิ้มให้ผู้พบเห็นได้ชื่นใจ แถมยังต้องคอยดูแลเทคแคร์คนหลายจำพวกอีกต่างหาก ถ้ารู้สึกเครียดขึ้นมาก็ควรปลีกตัวหรือเวลาว่าง หลังเลิกงานออกกำลังกาย ไม่ว่าจะเป็นการวิ่ง ยกน้ำหนัก หรือซ้อมชกกับกระสอบ เป็นการระบายความเครียดได้ดีเชียวล่ะ ยิ่งถ้ามีใครสักคนที่คุณไม่ชอบหน้า แต่จำเป็นต้องยิ้มและต้อนรับดูแลเขาบ่อย ๆ นึกถึงหน้าหมอนั่นไว้แล้วอัดใส่กระสอบเต็ม ๆหมัด รับรองว่าคุณสามารถยิ้มกับเขาได้เสมอ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดก็ตาม

งานซ้ำซากเหมือนเดิมทุกวัน

พนักงานรับโทรศัพท์ พนักงานหน้าเคาน์เตอร์ของธนาคารที่ดูแลการฝาก-ถอนเงิน หรือการเขียนรายงานประชุมที่เหมือน ๆ เดิมทุกครั้ง เลขานุการของเจ้านายที่ทำงานจนรู้ใจไปหมด พนักงานบัญชี รวมทั้งงานบริการในแบบซ้ำซากจำเจ เมื่องานทำให้คุณเบื่อเมื่อไหร่ ก็เริ่มเครียดกับมันไปด้วยเมื่อนั้น เพราะคุณไม่สนุกกับการทำงานแล้วนะสิ ทางออกก็คือลองใช้เวลาหลังเลิกงานเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เช่น เรียนรู้ที่จะเป็นผู้ชำนาญการเรื่องไวน์หรือเบียร์ สามารถแยกแยะความแตกต่างของรสชาติ คุณอาจทำให้งานอดิเรกกลายเป็นงานที่ตื่นเต้นสนุกสนาน ทั้งยังให้ความรู้ผ่านข้อเขียนได้อีกด้วย หาอะไรตื่นเต้นให้กับตัวเองหลังเลิกงานดูสิ แล้วงานประจำที่น่าเบื่อก็จะไม่น่าเบื่อและไม่ชวนให้เครียดอีกต่อไป

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

ten − two =