วิธีบรรเทาปัญหาน้ำเน่าเสีย

จิตอาสาและน้ำใจ สองคำที่เบ่งบานและพบเห็นตลอดเวลา ในช่วงที่คนไทยประสบภาวะวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ในคราวนี้  ซึ่งที่ผ่านมาเราไม่ค่อยได้สัมผัสนักในเมืองใหญ่ที่ต้องดิ้นรนเอาตัวรอดอย่างกรุงเทพฯ

ล่าสุดกับการคิดค้นสูตร “ปูนน้ำใส 54” ที่มีคุณสมบัติจะช่วยช่วยบรรเทาปัญหาน้ำเน่าเสีย กำจัดกลิ่น สารปนเปื้อน เชื้อโรค รวมไปถึงกำจัดไข่ยุงได้ด้วย

งานนี้เป็นความร่วมมือของบรรดาพี่น้องผองเพื่อนที่ทำงานร่วมกันมาก่อนหน้านี้ ที่เห็นความเดือดร้อนของชาวบ้านจึงได้ช่วยกันคิดค้นสูตร “ปูนน้ำใส 54” ขึ้น ซึ่งประกอบไปด้วย รศ.นสพ.ดร.จิรศักดิ์  ตั้งตรงไพโรจน์  ประธานที่ปรึกษาศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา  ชันซื่อ ผอ.ศูนย์ฯ, สพ.ญ.ฐนิดา  เหตระกูล รองผอ.ศูนย์ฯ, นายจิรศักดิ์  พุ่มเงิน  มูลนิธิอนุรักษ์สัตว์น้ำไทย

รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา  กล่าวว่า ในช่วงน้ำท่วมพวกเราได้ออกช่วยเหลือชาวบ้านที่เดือดร้อนรวมไปถึงสัตว์ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม  ผู้คนส่วนใหญ่ไม่อยากอพยพไปอยู่ที่อื่น และยิ่งน้ำท่วมนานยิ่งทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนจากปัญหาน้ำเน่าเสีย  ส่งกลิ่นเหม็น ที่ชาวบ้านต้องสูดดมอยู่ตลอดเวลา รวมไปถึงปัญหาเรื่องยุงและนับวันจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น เราจึงมาคิดวิธีที่จะบรรเทาความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน จึงเป็นที่มาของการวิจัย “ปูนน้ำใส”

จิตอาสากลุ่มนี้บอกว่า ปูนน้ำใส ไม่ได้เป็นนวัตกรรมใหม่ เพียงแต่น้ำสารที่มีคุณสมบัติที่จะช่วยลดความเน่าเสีย กลิ่น ฆ่าเชื้อโรค และจับสารพิษ มาผสมกันและทดลองในห้องปฏิบัติการ รวมไปถึงการทดลองใช้ว่าได้ผลจริง โดยประกอบไปด้วยสาร 4 ชนิด คือ แร่แคลเซียมเบนโทไนท์ และปูนขาว มีคุณสมบัติช่วยจับตะกอน เนื่องจากตะกอนจะมีโปรตีนและเป็นประจุบวก ขณะที่แร่เป็นประจุลบ จะทำปฏิกิริยากันทำให้เกิดการตกตะกอน ซีโอไรท์ ช่วยในการลดกลิ่น และด่างทับทิม ที่จะช่วยฆ่าเชื้อโรค

แต่ก่อนที่จะมาลงตัวกับส่วนผสม 4 ชนิดนี้  ทีมนักวิจัยได้ทดลองในหลายสูตร แต่ก็มีความเห็นร่วมกันว่าสูตรสาร 4 ชนิดนี้เหมาะสมกับสถานการณ์นี้ที่สุด

รศ.นสพ.ดร.จิรศักดิ์ กล่าวว่า สารเหล่านี้มีการใช้ในบ่อเลี้ยงปลาและบ่อเลี้ยงกุ้งของบรรดาเกษตรกรอยู่แล้ว  จึงรับประกันได้ว่าไม่มีอันตรายต่อมนุษย์ และถือว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสีย นอกเหนือจาก “อีเอ็ม” อีกทั้งการทำงานของปูนน้ำใสจะรวดเร็วกว่า เพราะสามารถทำปฏิกิริยากับตะกอนในน้ำได้ทันที  ขณะที่อีเอ็มเป็นจุลินทรีย์ที่ต้องใช้เวลาให้เชื้อเจริญเติบโตก่อนจึงจะกินของเสียในน้ำ  ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลาระยะหนึ่งจึงจะเห็นผล  หรือหากจุลินทรีย์ไม่เจริญเติบโตอีเอ็มก็จะไม่เกิดผลสำเร็จ

วิธีการใช้งานปูนน้ำใสก็เพียงนำไปโรยใส่น้ำที่เน่าเสี โดยไม่ต้องผสมน้ำก่อน ปูน 1 ถุง (10 กก.) สามารถใช้กับน้ำขังลึก 1 เมตร ได้ 100 ตร.ว. ต้นทุนการผลิตตกราวถุงละ 80 บาทเท่านั้น

รศ.สพญ.ดร.นันทริกา  กล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วงนี้เราได้ผลิตปูนน้ำใสเพื่อนำไปแจกชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนน้ำท่วมขัง  อย่างไรก็ตามได้รับการเอื้อเฟื้อเรื่องเงินทุนในขั้นต้นจาก นายทนงศักดิ์  วรรณจักร สมาคมยิงปืน ไอดีเอสซี ซึ่งเป็นกลุ่มเพื่อนที่ทำกิจกรรมร่วมกันมาก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ตาม จิตอาสากลุ่มนี้ยินดีที่จะผลิตปูนน้ำใสเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านเพิ่มเติม  หากผู้ใดมีจิตศรัทธาจะร่วมสนับสนุนเงินทุนในการผลิต สามารถบริจาคได้ที่ ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทร.0-2251-8887 หรือ 08-1802-4637

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

two + nine =