วิธีการป้องกันเพื่อส่งเสริมสุขภาพของชีวิตคู่

การป้องกันเพื่อส่งเสริมสุขภาพเป็นการดูแลและป้องกันตนเอง คู่ และครอบครัวให้มีสุขภาพแข็งแรง ห่างไกลจากการติดเชื้อโรคติดต่อต่าง ๆ ทั้งดรคที่เป็นอยู่เดิมและโรคติดต่อชนิดใหม่ โดยปฏิบัติควบคู่กับการส่งเสริมสุขภาพด้านอื่น ๆ เช่น ออกกำลังกาย กินอาหารที่สุกสะอาดครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำสะอาดวันละ 8-10 แก้ว ทำจิตใจให้สดชื่นแจ่มใส

การรับบริการป้องกันเพื่อส่งเสริมสุขภาพ คุณจะมีโอกาสพูดคุยกับแพทย์ พยาบาล ผู้ให้การปรึกษา เพื่อให้ตนเอง คู่ และครอบครัวจะได้มีสุขภาพที่ดี และมีอายุยืนยาว โดย

  • จะได้มีความเข้าใจเกี่ยวกับการติดเชื้อเอชไอวีและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับตนเอง คู่ และครอบครัวที่สามารถวางแผนป้องกันได้ด้วยตนเอง
  • จะได้เรียนรู้วิธีการดูแลตัวเองและครอบครัวที่ถูกต้อง
  • จะได้ทราบเกี่ยวกับแหล่งบริการสุขภาพต่าง ๆที่เกี่ยวข้อง
  • จะได้เข้าถึงบริการทางการแพทย์ต่าง ๆ ที่จำเป็นและเหมาะสมทั้งสำหรับตนเอง คู่ หรือสมาชิกครอบครัว เพื่อการดูแลรักษา เป็นต้น

วิธีการป้องกันเพื่อส่งเสริมสุขภาพที่มีความสำคัญและสามารถปฏิบัติได้ด้วยตนเองคือ

1.  การลดพฤติกรรมเสี่ยง

การลดพฤติกรรมเสี่ยงจะช่วยลดโอกาสในการรับเชื้อเอชไอวี รวมทั้งโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ทำให้มีสุขภาพดีในระยะยาว พฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเพิ่มการรับและถ่ายทอดเชื้อเอชไอวี ได้แก่ การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย เช่น การมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทวารหนัก หรือปาก โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย และการใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น ซึ่งทำให้เกิดการสัมผัสและแลกเปลี่ยนเลือดหรือสารคัดหลั่งทางเพศสัมพันธ์ เช่น อสุจิ น้ำหล่อลื่นจากช่องคลอด ซึ่งมีเชื้อเอชไอวีในปริมาณที่สูง

การใช้สารเสพติด เหล้า หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะทำให้ไม่สามารถควบคุมตนเอง นำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์หรือพฤติกรรมที่ไม่ปลอดภัย

2.  การตรวจและรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

การเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จะเพิ่มความเสี่ยงในการรับและถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีเพิ่ม โดยบางโรคยังทำให้มีอาการของโรคเอดส์ได้เร็วขึ้น การได้รับการตรวจวินิจฉัยแต่เนิ่น ๆ จะทำให้ได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพ

3.  การเปิดเผยผลเลือดให้กับคู่

การเปิดเผยผลการติดเชื้อเอชไอวีกับคู่จะช่วยให้สามารถสื่อสารกับคู่ในการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยได้ง่ายขึ้น และยังช่วยให้การพาคู่มาตรวจเลือดทำได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม การเปิดเผยผลเลือดเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ควรมีการวางแผนที่ดี หากมีความ่ลำบากใจ สามารถรับบริการปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญได้

4.  การตรวจหาการติดเชื้อฯของคู่เพศสัมพันธ์

การทราบสถานะการติดเชื้อของคู่ ช่วยให้ตนเองและคู่สามารถวางแผนชีวิตได้ชัดเจน และสามารถปรับพฤติกรรมให้ปลอดภัยร่วมกันได้ง่ายขึ้น รวมทั้งจะสามารถเข้าถึงบริการดูแลที่เหมาะสม

5.  การกินยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่อง ครบถ้วยและสม่ำเสมอ

ในกรณีที่จำเป็นต้องรับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส การกินยาอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และตรงเวลา ต่อเนื่องจะช่วยลดระดับไวรัสในเลือดให้ต่ำลง ภูมิคุ้มกันจะเพิ่มขึ้นทำให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น

6.  การวางแผนการมีบุตรและการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก

การคุมกำเนิดและการวางแผนมีบุตรอย่างเหมาะสม รวมทั้งการเข้ารับบริการเพื่อการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก จะช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์และช่วยลดความเสี่ยงในการถ่ายทอดเชื้อจากแม่สู่ลูกได้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

three × five =