วิธีการเก็บรักษาอาหารชนิดต่างๆ

ในช่วงฤดูร้อนอาหารเสียง่ายไม่ว่าอาหารสดหรืออาหารที่ทำเสร็จแล้ว อาหารสดเมื่อซื้อมาจากตลาด เช่น ผัก ควรเอาส่วนกินไมได้ออก ล้างสะบัดน้ำให้แห้งสะเด็ดน้ำแล้วจึงเก็บใส่ถุงหรือกล่องเข้าตู้เย็น

การใช้ผักทำอาหารในรายที่รายที่จ่ายกับข้าวอาทิตย์ละครั้ง เลือกใช้ผักที่เปลี่ยนสภาพง่ายก่อนทำอาหาร เช่น ผักใบ ต่อจากผักใบก็เป็นประเภทฝัก เช่น ถั่ว แล้วจึงใช้ผักประเภทหัวหรือลูกทีหลัง

เนื้อสัตว์  สำหรับเนื้อสัตว์นั้นในการเก็บต้องทำความสะอาดก่อน เช่น ปลา เอาเกล็ดออกควักไส้ออก ถ้ากินปลาประเภทย่างหรือทอดสุกแล้วเก็บในตู้เย็นจะดีกว่าเก็บทั้งที่สดๆ ปลาจะสดและไม่เหม็นคาว และเอามาทำให้สุกง่ายขึ้น

ถ้ากินแบบแล่เนื้อใช้ผัดหรือยำหรือแกง เช่น แกงจืด ต้มยำ ทางที่ดีควรแล่เอาแต่เนื้อ หั่นชิ้นตามต้องการ ลวกให้พอสุก แบ่งเป็นส่วนๆ เก็บในตู้เย็น วิธีนี้ปลาจะสดเหมือนกับซื้อมาใหม่ๆ และทำให้การทำอาหารสะดวกรวดเร็วขึ้น และปลาจะสุกทั่วถึงดีกว่าปลาสดแช่แข็งแล้วเอามาทำอาหาร ปัญหาที่พบเสมอ คือปลาสุกไม่ถึงข้างใน

กุ้งก็เช่นเดียวกับปลา เก็บโดยวิธีแกะเปลือกเอาส่วนกินไม่ได้ออกลวกไว้แบ่งแยกใส่ถุงจะดีกว่า แล้วจึงเอามาทำอาหาร เช่น ข้าวต้มกุ้ง ต้มยำกุ้ง น้ำพริกกุ้งสด กุ้งทอดกระเทียมพริกไทย กะเพรากุ้ง กุ้งสามรส กุ้งเปรี้ยวหวาน ฯลฯ

ไข่  สำหรับไข่นั้น ถ้าเก็บเอาทางป้านขึ้นวางในที่เก็บ ถ้าเก็บในตู้เย็นจะเก็บได้นาน เก็บนอกตู้เย็นก็ได้เป็นอาทิตย์ แต่เราต้องมีวิธีใช้ไข่ทำอาหารให้ถูกลักษณะ เช่น ไข่ที่ซื้อมาใหม่ๆ เราทำไข่ดาว ไข่ดาวราดหน้าเปรี้ยวหวาน ไข่ดาวน้ำ วันต่อมาไข่ลดความสดลง ไข่ต้มยางมะตูมกินกับน้ำปลามะนาว มะม่วงซอยพริกขี้หนูซอย วันต่อมาเป็นไข่พะโล้ ไข่เจียว ไข่ตุ๋นใช้ท้ายๆ ไข่เจียวไข่ตุ๋นใช้ไข่ที่ไข่แดงแตกๆได้ ไข่เจียวเราเอามาทำแกงจืดไข่เจียว ใส่ผัดผักแตงกวา ถั่วงอก กระเทียมดอง ผักดอง ยำไข่เจียว หรือต้มแข็งทำแกงเขียวหวานไข่ แกงเผ็ดไข่ก็ยังได้

อาหารที่ทำสุกแล้วเมื่อเก็บใส่ภาชนะแล้วควรเข้าตู้เย็น ก่อนเข้าตู้เย็นควรแน่ใจว่าอาหารนั้นเย็นแล้ว เก็บในช่องเย็นธรรมดา

การเก็บอาหารในตู้เย็น อาหารที่ทำสุกเก็บในช่องแข็ง โดยแบ่งออกเป็นส่วนสัดเฉพาะที่จะปรุงแต่ละครั้ง

การเก็บอาหารในตู้เย็นเป็นวิธีที่ทำให้อาหารเสียช้าลง แต่ถ้าเก็บไว้ในตู้เย็นนานๆ อาหารจะเสียได้โดยขึ้นราได้

เพราะเหตุนี้ไม่จำเป็นที่ต้องเก็บอาหารไว้ในตู้เย็นเกิน 1 อาทิตย์เชื้อราเจริญเติบโตได้ในตู้เย็น เราจะพบเสมออาหารสำเร็จรูปเก็บไว้ในตู้เย็นธรรมดาเกิน 1 อาทิตย์ พอย่างเข้าเช้าวันที่ 10 ราจะเริ่มขึ้น

ผักสดโดยเฉพาะผักใบจะเปลี่ยนสี ผักบางชนิดจะเน่าได้ เพราะเหตุนี้การจ่ายตลาดไม่ควรจะซื้ออาหารเกิน 1 อาทิตย์ การเก็บอาหารไว้นาน ไม่เพียงแต่อาหารจะไม่สดแล้ว คุณค่าทางอาหารในอาหารนั้นจะลดลง เช่น สิ่งที่สูญเสียง่ายคือวิตามินซี ปริมาณของวิตามินซีจะลดลงเรื่อยๆ เช่น ถั่วแขก เก็บไว้ในตู้เย็นอุณหภูมิ 52 ฟาเรนไฮต์ วิตามินซีจะสูญเสียไป 10 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเก็บไว้ 1 วัน แต่ถ้าเก็บไว้เกิน 1 วัน ภายใน 3-4 วันอุณหภูมิระดับเดียวกัน วิตามินซีจะสูญหายไป 10-30 เปอร์เซ็นต์

สำหรับเนื้อสัตว์ ไข่ นม การสูญเสียคุณค่าทางอาหารมีน้อยกว่าจำพวกผักและผลไม้ เพราะโดยสภาพตามธรรมชาติของเนื้อเน่าได้ง่าย ต้องเก็บในอุณหภูมิต่ำ การสูญเสียปกติก็คือการสูญเสียความชื้น

แต่ถ้าเก็บในอุณหภูมิสูงกว่าจุดแข็ง การสูญเสียวิตามินบี1 บี2 ไนอาซินก็จะเกิดขึ้น ยิ่งเก็บไว้นานวันก็จะลดลงมากขึ้น

การสูญเสียสารอาหารในพืชและสัตว์ มีการสูญเสียระหว่างการเก็บมากน้อยตามสภาพของการเก็บและวิธีเก็บ วิธีการสงวนคุณค่าได้ดีที่สุด คือ เก็บไว้ในอุณหภูมิต่ำ แต่อุณหภูมิที่จะใช้เก็บอาหารแต่ละชนิดไม่เท่ากัน คือต่ำกว่าศูนย์องศาเซลเซียส เหมาะสำหรับเก็บเนื้อสัตว์ทุกๆชนิดที่ต้องการเก็บไว้ใช้ระยะยาว เช่นสัปดาห์ การเก็บเนื้อชิ้นใหญ่ต้องล้างเช็ดให้แห้งทั้งชิ้น แบ่งออกมาเป็นส่วนๆ ที่จะใช้แล้วจึงเก็บ ทั้งนี้เพื่อสะดวกในการนำมาใช้ทำอาหารหรืออาจจะบดหรือสับก่อนก็ได้ เก็บสูงกว่าศูนย์องศาเซลเซียสเล็กน้อย เหมาะสำหรับเก็บเนื้อสัตว์ที่จะใช้ประจำวัน

อุณหภูมิเย็นปานกลาง ประมาณ 40 องศาฟาเรนไฮต์ เหมาะสำหรับเก็บไข่ นม ผัก และผลไม้เป็นต้น แยกประเภทผัก ผลไม้ ล้างก่อนเก็บเสมอ

อุณหภูมิห้องปกติ เหมาะสำหรับเก็บผลไม้บางชนิด เช่น กล้วย ผลไม้ดิบต่างๆ ผักบางชนิด เช่น ฟักทอง ฟักเขียว มันเทศ มันฝรั่ง เป็นต้น

ในทางที่ดี วางแผนการใช้ กะปริมาณจำนวนก่อนซื้อจะเหมาะกว่าที่จะซื้อเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้มาเก็บไว้เป็นสองสามอาทิตย์ ทั้งๆที่เราไปจ่ายตลาดสะดวก

การทำอาหาร ถ้าเราได้เตรียมไว้ล่วงหน้าก็ทำให้การทำอาหารนั้นรวดเร็วขึ้น ไม่ต้องเสียเวลา โดยเฉพาะอาหารประเภทเนื้อสัตว์

สมมุติว่าเราซื้อกุ้งได้ถูก การทำกุ้งก็ไม่ยาก ล้างทั้งเปลือก แกะเปลือกออกทั้งหมด ตัดส่วนรุงรังตรงหัวออก ดึงเอาส่วนที่เป็นถุงดำๆตรงส่วนหัวออก ผ่าหลังดึงเส้นดำๆออก

สับกระเทียมหยาบๆ ประมาณ 2 ช้อนโต๊ะ กุ้ง 2 กก. ใส่น้ำมันลงในกระทะ ¼ ถ้วย ใส่กระเทียม 1 ช้อนโต๊ะ พอหอม แบ่งกุ้งใส่ครึ่งหนึ่ง โรยด้วยเกลือ 1 ช้อนชา รวนพอกุ้งสุก แล้วจึงเอาส่วนที่เหลือรวนแบบเดียวกัน

การรวนทีละน้อยกุ้งจะสุกทั่วถึง ถ้ารวนทีเดียวหมดต้องใช้เวลานานกุ้งจึงจะสุกทั่วถึง กุ้งบางตัวอาจจะสุกเกินไปจนแข็ง เราต้องการกุ้งสุกพอดีหรือเกือบสุกเท่านั้น เพราะจะเอามาใช้ทำอาหาร กุ้งก็จะสุกอีกครั้ง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

1 × 1 =