วิธีฝึกโยคะสำหรับผู้มีปัญหาหลังและข้อ

กวี  คงภักดีพงษ์/มูลนิธิสานแสงอรุณ แปลและเรียบเรียงจาก Heart Care

การเคลื่อนไหวของร่างกายต้องอาศัยอวัยวะหลายส่วน ทำงานเชื่อมต่อสัมพันธ์กันอย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นกระดูก กระดูกหลายๆชิ้นประกอบกันเป็นข้อต่อ ข้อต่อยึดติดกันด้วยเอ็น ซึ่งเคลื่อนไหวได้ด้วยพลังจากกล้ามเนื้อบริเวณรอบๆ แม้จะเป็นการเคลื่อนไหวเพียงเล็กน้อยๆ ก็ต้องอาศัยการประสานร่วมมือกันของส่วนต่างๆมากมาย

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้โดยอาศัย “สมอง” ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูล ความรู้สึกจากทุกส่วนของร่างกาย อีกทั้งสมองยังเป็นกองบัญชาการที่ส่งข้อมูล คำสั่ง กลัลไปยังอวัยวะต่าง ๆ ด้วย

เราจะพบว่าจริงๆ แล้ว

–         สมองต่างหากที่เห็นมิใช่ตา

–         สมองต่างหากที่รู้สึกมิใช่ร่างกาย

–         สมองต่างหาก ที่เป็นตัวกำหนดการทำงานต่างๆ ของร่างกาย

–         สมองนี่แหละ ที่ทำให้เราเป็นตัวเราอย่างนี้

–         สมองนี่แหละ ที่สร้างปัญหา และ

–         สมองนี่แหละที่เป็นตัวแก้ปัญหาด้วย

หากพิจารณาดูให้ดี เราจะพบว่า เรานั่นแหละเป็นผู้สร้างปัญหาให้กับตัวเราเอง เช่น

–         ชีวิตที่หรูหรา ฟุ้งเฟ้อ แต่เต็มไปด้วยความเครียด ก็คือ ความไม่เท่า ความไม่พอเหมาะพอดีของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ทำให้อิริยาบถในชีวิตประจำวันของเราผิดท่า

–         ความกลัว ความกังวล ความเครียด ล้วนทำให้กล้ามเนื้อเกร็ง ตึง โดยไม่จำเป็น

–         วิถีชีวิตที่ไม่สมดุล ประกอบกับขาดการออกกำลังกาย ทำให้กล้ามเนื้อเสื่อมสมรรถภาพ

–         ทัศนคติในเชิงลบ ความเครียดในที่ทำงาน ความกังวลในเรื่องเงินทอง ฯลฯ ทำให้กล้ามเนื้อเกร็งค้าง โดยที่เราไม่รู้ตัว ปล่อยไว้นานเข้ากล้ามเนื้อก็อ่อนตัว ปวดเมื่อย แล้วเราก็วิตกกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับเรื่องของกล้ามเนื้อเลยยิ่งไปกันใหญ่

–         การไม่มีความอดทน ความเชื่อผิดๆ หรือการรักษาอาการที่ปลายเหตุ มีแต่จะเพิ่มปัญหา มีแต่จะทำให้เกิดเป็นวงจรที่แย่ลงไปเรื่อยๆ

ความมหัศจรรย์ของชีวิตคือ ร่างกายจะคอยสื่อสารคอยส่งสัญญาณบอกเราอยู่ตลอดเวลา ที่น่าเศร้าคือแทนที่จะหยุดฟัง แทนที่จะพยายามแก้ไขปรับปรุง เรามักจะเพิกเฉย ละเลย ไม่ใส่ใจกับสิ่งที่ร่างกายพยายามบอกเราผลก็คือ ความยืดหยุ่นลดลง ความเจ็บปวดเพิ่มขึ้น ยิ่งเราละเลยกับ “ความผิดท่าในอิริยยาบถต่าง ๆ” เราก็ยิ่งตัวแข็ง ยิ่งปวด

เป็นที่รับรู้อยู่ว่า อะไรที่เกิดกับจิตใจก็เกิดกับร่างกาย กล่าวคือ หากเราเป็นคนไม่ยืดหยุ่นทางจิตใจ ร่างกายเราก็ไม่ยืดหยุ่นเช่นกัน

ความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง และความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับปัญหาปวดหลัง

  • เชื่อว่าคนปวดหลังไม่ควรก้มตัวไปด้านหน้า

ในความเป็นจริง กล้ามเนื้อสำหรับการก้มตัวไปข้างหน้าคือโชคอัพชิ้นใหญ่ที่สุดของกระดูกสันหลัง หากไม่ใช้งานก็จะทำให้ติดขัด อ่อนแอ ส่งผลให้ต้องใช้แรงจากกระดูกสันหลังโดยตรงมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ปวดหลังมาก แม้จะทำอะไรเพียงเล็กๆน้อยๆ

สำหรับคนที่ปวดหลังเฉพาะบริเวณหมอนรองกระดูก ควรหลีกเลี่ยงการก้มไปข้างหน้า ครั้นเมื่อความปวดบรรเทาลง(ไม่ต้องรอเป็นปกติ)ให้เริ่มลองก้มไปข้างหน้า(อย่างระมัดระวัง) เพื่อค่อยๆ ฝึกให้กล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ก้มไปข้างหน้าเหล่านี้แข็งแรงขึ้น

  • เชื่อว่าคนปวดหลังต้องนอนบนพื้นหรือเตียงแข็ง

ในความเป็นจริง คนปวดหลังโดยเฉพาะช่วงที่ปวดมาก ควรหลีกเลี่ยงการนอนกับพื้น หรือเตียงเตี้ยสำหรับเตียงที่สูงจะทำให้กระดูกสันหลังใช้แรงน้อยลง ฐานเตียงต้องเป็นระนาบตรง โดยตัวเบาะมีความนุ่มสบายพอ และรับพอดีกับแนวโค้งของกระดูกสันหลัง ไม่ใช้เบาะที่นุ่มเกินไป หรือเบาะที่ใช้งานมานานจนแอ่นโค้ง เสียรูปทรงเดิมไปหมดแล้ว

  • เชื่อว่าคนปวดหลังห้ามนอนหนุนหมอน

หมอนขนาดกลางๆ ที่นุ่มสบายเป็นเรื่องดี เป็นการเพิ่มความยืดหยุ่นให้กระดูกต้นคอ ที่ต้องเลี่ยงคือการนอนบนหมอนหลายๆใบซ้อนกัน เพราะจะทำให้กระดูกคอบิดเบี้ยวผิดปกติได้

  • เชื่อว่าการใส่เข็มขัดพิเศษตลอดเวลาเป็นการดี

การใช้เข็มขัดพิเศษตลอดเวลา โดยไม่ไตร่ตรองจะสร้างปัญหาเพิ่มขึ้น เข็มขัดพิเศษช่วยรับภาระน้ำหนักที่กระดูกสันหลังส่วนกลางและส่วนล่างก็จริง แต่เมื่อใช้ติดต่อกันนานเกินไป กล้ามเนื้อรอบๆ กระดูกสันหลังบริเวณนั้นจะไม่ได้ใช้ ก่อให้เกิดปัญหาดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

  • เชื่อว่าการนวดเป็นเรื่องดี

ในความเป็นจริง การนวดด้วยน้ำมัน ครีม หรือเจล ทำให้เกิดความหลงผิด คิดว่าตนได้รับการรักษาแล้ว ทั้งๆที่การนวดเหล่านี้นอกจากจะไม่ช่วยแล้ว บางทียังไปเพิ่มอาการปวดให้มากขึ้นอีกด้วย

เหตุผลที่ไม่ควรนวด อาจทำให้อาการแย่ลง ยิ่งถ้าเป็นการนวดที่ใช้แรงมากเกินไป ในปัจจุบันยังไม่มียาใดที่จะซึมซาลจากผิวหนังไปขังข้อ หรือกระดูกโดยตรง ยาใดๆ ที่ไปถึงบริเวณกระดูกต้องผ่านไปทางกระแสเลือดก่อน แล้วจึงไปถึงบริเวณกระดูก

ทำไมถึงรู้สึกดีจากการนวด น้ำมันที่ใช้นวด ครีมเจลต่างๆ เพียงไปขวางประสาทรับความรู้สึกปวด โดยธรรมชาติจะค่อย ๆ เยียวยารักษาอาการของมันเองเมื่อผู้มีอาการปวดหลังไปนวดเป็นประจำ พออาการของตนดีขึ้น ก็เข้าใจผิดคิดว่าอาการที่ดีขึ้นเป็นผลมาจากการนวด

กล่าวโดยสรุปได้ว่า “ความคิดในเชิงบวก” คือกุญแจสู่สุขภาพที่ดี สู่ชีวิตที่มีความสุข อันเป็นสาระอันสำคัญของโยคะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

five − 1 =