วิธีใช้อุปกรณ์ในการประกอบอาหารและขนม

๑. ถ้วยตวง มี ๒ ชนิด คือ ถ้วยตวงของเหลว และถ้วยตวงของแห้ง

ถ้วยตวงของเหลว ลักษณะเป็นแก้วทนไฟ หรือพลาสติกใส มีขีดบอกระดับของเหลวที่จะตวง

๑ ถ้วยตวง = ๒๔๐ ซีซี

การเลือกใช้ ควรซื้อชนิดที่เป็นแก้วทนไฟ เพราะจะทนทาน มีอายุการใช้งานนานกว่า การตวงของที่เป็นของร้อน เช่น นํ้าร้อน นํ้ามัน ถ้าใช้พลาสติกใสธรรมดาหรือแก้วธรรมดา จะแตก เมื่อถูกความร้อนมากๆ

วิธีการใช้ วางถ้วยตวงลงบนพื้นเรียบ สายตาอยู่ที่ขีดบอกระดับที่เราต้องการตวง เทของเหลวลงในแก้วให้ตรงกับขีดที่เราต้องการ

ถ้วยตวงของแห้ง วัสดุที่ใช้ทำถ้วยตวงของแห้งมีหลายชนิด มีกระเบื้อง มีสแตนเลส อะลูมิเนียม และพลาสติก ถ้วยตวงของแห้งมี ๔ ขนาด คือ ขนาด ๑ ถ้วยตวง

ขนาด ๑/๒ ถ้วยตวง

ขนาด ๑/๓ ถ้วยตวง

และขนาด ๑/๔ ถ้วยตวง

วิธีการใช้ ใช้ตวงของแห้งต่างๆ เช่น แป้ง นํ้าตาล มันต้มบดละเอียด เนื้อหมู กะปิ

ถ้าตวงแป้งหรือนํ้าตาล ใช้ช้อนตักแป้งใส่ลงในถ้วยตวง ใช้สันมีดตรงๆ หรือสปาตูล่าปาดให้เรียบ ห้ามใช้ถ้วยตวงตักลงในของที่ต้องการตวงนั้น

การตวงเนื้อสัตว์บด หรือเผือก มัน ใช้ซ้อนตักใส่ถ้วย กดให้แน่นพอประมาณ พอเทออกมาเป็นรูปถ้วย

๒. ช้อนตวง ช้อนตวงชนิดที่ทำด้วย สแตนเลส อะลูมิเนียม พลาสติก มี ๔ ขนาดคือ ๑ ช้อนโต๊ะ ๑ ช้อนชา ๑/๒ ช้อนชา และ ๑/๔ ช้อนชา

วิธีการใช้ ถ้าเป็นการตวงของแห้ง ให้ใช้ช้อนดักใส่ช้อนตวงแล้วปาดให้เรียบ ถ้าเป็นของเหลว เช่น นํ้าปลา ให้ใช้นํ้าปลาใส่ถ้วย แล้วใช้ช้อนตวงตัก

๓. ผ้าขาวบาง ลักษณะบางโปร่งเหมือนผ้ามุ้ง มีสีขาวดูสะอาดมากกว่าสีอื่นๆ ซักสิ่งสกปรกออกได้ง่าย แห้งเร็ว วิธีการใช้ ใช้กรองสิ่งสกปรกออกจากอาหาร ทบผ้าขาวบางสัก ๓ ชั้น วางบนกระชอน เทนํ้าเชื่อมลงไป เศษผงต่างๆ ก็จะติดอยู่บนผ้าขาวบาง วิธีนี้ใช้กรองกะทิที่มีเศษมะพร้าวดำๆ ได้ด้วย

การนึ่งอาหาร ใช้ผ้าขาวบาง ชุบนํ้าปูบนลังถึง ใช้แทนใบตองก็ได้ ผ้าขาวบางชุบนํ้าบิดหมาดๆ คลุมผักไว้ทำให้ผักสดเก็บไว้ได้โดยไม่เหี่ยว

๔. กระทะแบนมีด้าม เป็นกระทะก้นหนาทำด้วยทองแดงและเหล็กขาว ใช้คู่กับตะหลิวทึบ หรือโปร่ง ตามความต้องการใช้ ใช้ผัด ทอด อาหารที่มีปริมาณไม่มากนัก เหมาะกับเตาแก๊ส เพราะก้นกระทะแบน บางทีใช้ทำขนม ใช้คู่กับพายไม้แบน

๕. ลังถึง ลักษณะเป็นหม้อนึ่งด้านล่างก้นเรียบ ใส่นํ้า เพื่อให้เกิดไอ ด้านบนก้นเจาะรูขนาดใหญ่ เพื่อให้ไอนํ้าขึ้นไป ทำให้อาหารสุก มี ๒ ชั้น ฝาทรงสูง ส่วนใหญ่ทำด้วยอะลูมิเนียม เพราะนํ้าหนักเบา ทำความสะอาดได้ง่าย ทนทาน มีบ้างที่ทำด้วยสังกะสี แต่อายุการใช้งานจะสั้นกว่า

วิธีการใช้ ใส่นํ้าที่ก้นลังถึงประมาณ ๑/๒ – ๓/๔ ของลังถึง วางอาหารหรือขนมที่จะนึ่ง วางเรียงกันกะระยะให้ห่างกันพอสมควร เพื่อให้มีช่องให้ไอนํ้าขึ้นมาทำให้อาหารสุก เช็ดฝาให้สะอาด ปิดฝา เมื่ออาหารสุกเวลาเปิดฝา ให้เปิดฝาลังถึงออกนอกตัว เพราะไอนํ้าจะพุ่งใส่หน้าทำให้เกิดอันตราย และระวังนํ้าจะหยดใส่หน้าขนม ทำให้ขนมหน้าบุ๋มไม่สวย ถ้านึ่งครั้งต่อไปต่อจากครั้งแรก ให้เช็ดหยดนํ้าบนฝาลังถึงให้แห้งสนิท จึงปิดฝา

๖. สปาตูล่า ลักษณะคล้ายพายไม้ไผ่บางยาว ทำด้วยสแตนเลสเป็นส่วนใหญ่ สปาตูล่านี้ ไม่ใช่เป็นอุปกรณ์ของขนมไทย ส่วนใหญ่ใช้ในงานเบเกอรี่ แต่ขนมไทยบางชนิด ต้องใช้ไม้ไผ่บางๆ สำหรับแซะขนม เช่น ข้าวเกรียบปากหม้อ  ข้าวเกรียบอ่อน ขนมเรไร การหาไม้ไผ่มาทำเป็นพายให้พอดี ที่จะปาดขนมได้เรียบสะอาดเป็นเรื่องยาก จึงต้องใข้สปาตูล่า แทน เพราะถ้าใช้ไม้ไผ่ต้องเปลี่ยนบ่อยๆ และคุณภาพไม่สม่ำเสมอ

๗. กระชอนกรองกะทิ ลักษณะคล้ายตะแกรงร่อนแป้ง แต่จะเป็นตะแกรงล้วนหรือทำด้วยอะลูมิเนียมเจาะรู มีด้ามถือ มีหู สำหรับพาดเกาะหม้อหรืออ่าง เวลาคั้นกะทิ

เมื่อใช้เสร็จ ล้างให้หมดกากมะพร้าว แขวนไว้ ผึ่งให้แห้ง

๘. ไม้คลึงแป้ง ลักษณะเป็นไม้ท่อนกลม คอดปลาย มีไม้เล็ก ๒ ข้าง พอเหมาะมือสำหรับจับคลึงไม้คลึงแป้งที่ดี ต้องมีนํ้าหนัก คลึงแล้วเรียบสม่ำเสมอ ถ้าไม่มีไม้คลึงแป้ง ใช้ขวดเปล่าคลึงแทนก็ได้

๙. พายยาง ลักษณะคล้ายพายไม้แต่ทำด้วยพลาสติก ใช้สำหรับผสมส่วนผสมให้เข้ากัน หรือปาดส่วนผสมที่เลาะอยู่ปากอ่างให้รวมอยู่ด้วยกัน แต่ไม่ควรกวนส่วนผสมของร้อน หรือนำไปผัดแทนตะหลิว เพราะความร้อนจะทำให้พลาสติกละลายปนกับอาหาร ทำให้เกิดอันตรายได้

๑๐. ช้อนไม้, พายไม้ พายไม้ลักษณะปลายแบนยาว มีด้ามสำหรับถือ ใช้กวนหรือผสมส่วนผสม สำหรับช้อนไม้ลักษณะคล้ายพาย แต่รูปร่างเป็นช้อนขนาดใหญ่ ทำด้วยไม้ ทั้งพายไม้และช้อนไม้ส่วนใหญ่ใช้คู่กับกระทะทอง หม้อตุ๋น สำหรับกวนขนม เช่น เปียกปูน ตะโก้ วุ้น หรือตุ๋น สังขยาทาขนมปัง

๑๑. กระทะทอง ทำด้วยทองเหลือง ควรเลือกชนิดหนา เพื่อเวลากวนขนมนานๆ จะได้ไม่ไหม้ ใช้คู่กับช้อนไม้ หรือพายไม้

๑๒. อ่างเคลือบ หรืออ่างกระเบื้อง อ่างเคลือบที่ใช้มีหลายขนาด ตั้งแต่เล็กจนถึงเป็นกะละมังขนาดใหญ่ สำหรับใช้ล้างของ สาเหตุที่ต้องใช้อ่างเคลือบ เพราะขนมไทยบางชนิดมีส่วนประกอบของนํ้าปูนใส เกลือ ไข่ ถ้าใช้โลหะ พวกเหล็ก หรืออะลูมิเนียม สารประกอบของโลหะที่ทำภาชนะ อาจปนเข้าไปกับอาหาร อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ ถ้าไม่ชอบ อ่างเคลือบ อาจเลือกอ่างสแตนเลสก็ได้ แต่จะมีราคาแพงกว่า

๑๓. ถาดขนมสี่เหลี่ยม ลักษณะเป็นถาดอะลูมิเนียม ส่วนใหญ่เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีหู ๒ ข้าง สำหรับจับ ใช้ได้ทั้งอบ ผิง หรือนึ่ง ส่วนใหญ่ใช้ทำขนมชั้น ขนมหม้อแกง ขนมสาลี่ ใช้เสร็จแล้วล้างให้สะอาด ระวังเรื่องเศษอาหารที่ติดตามซอกมุมด้วย ถ้าหมักหมมนานๆ อาจเกิดเป็นพิษต่อร่างกายได้

๑๔. ตะแกรงร่อนแป้ง ลักษณะเป็นตะแกรงกลม ทำด้วยสแตนเลส ทองเหลือง หรือไม้ ไม่มีด้ามถือ ใช้ร่อนแป้ง นํ้าตาล ในส่วนผสมของขนมที่ต้องการความละเอียด ฟูเบา ขนมบางชนิดต้องฝนแป้งดิบ เช่น ขนมขี้หนู หรือขนมทราย ใช้ตะแกรงร่อนแป้งร่อน จะได้เม็ดขนมที่ละเอียด ดีกว่าฝนด้วยกระชอนกรองกะทิ

เมื่อใช้เสร็จแล้วล้างนํ้า ใช้แปรงขัดสิ่งสกปรกที่ตะแกรงออกให้หมด ผึ่งแดดให้แห้งสนิทก่อนนำมาใช้ครั้งต่อไป ถ้านำมาใช้ขณะที่ตะแกรงยังไม่แห้ง แป้งจะเกาะติดทำให้อุดตัน ร่อนแป้งไม่ออก

๑๕. ถ้วยตะไล ลักษณะเป็นถ้วยเคลือบดินเผา สีขาว ขนาดเล็กเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑.๔ นิ้ว ก่อนใช้ต้องล้างให้สะอาด ใช้ทำขนมถ้วยฟู ขนมนํ้าดอกไม้ ต้องนึ่งถ้วยให้ร้อนเสียก่อน ขนมจะหลุดออกจากพิมพ์ได้ง่าย ถ้าทำขนมปุยฝ้าย ใส่กระทงกระดาษลงในถ้วยอีกที จึงหยอดแป้งลงไป เมื่อใช้เสร็จแล้วล้างนํ้าให้สะอาดใส่ตะแกรงผึ่งให้แห้งซ้อนกันไว้ เก็บใส่กล่อง

๑๖. พิมพ์อะลูมิเนียมรูปต่างๆ ลักษณะของพิมพ์ จะเป็นอะลูมิเนียมรูปร่างต่างๆ เช่นถ้วยกลมจีบถ้วยสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม รูปกระต่าย รูปปลา พิมพ์ชนิดนี้ถ้าจีบถี่จะทำความสะอาดยาก เวลาใช้เสร็จควรแช่นํ้าให้สิ่งสกปรกที่ติดหลุดออก จึงล้าง เหมาะที่จะใช้เป็นพิมพ์วุ้นต่างๆ ขนมชั้น ปุยฝ้าย เพราะทนความร้อนได้ดี

วิธีการใช้ ถ้าใช้ทำวุ้น เรียงพิมพ์ลงในถาด หยอดวุ้นลงไป แล้วหล่อนํ้าในถาด

ถ้าทำขนมชั้น นึ่งพิมพ์ให้ร้อนก่อนจึงหยอดแป้ง ถ้าทำปุยฝ้าย วางถ้วยลงในลังถึง กะระยะห่างพอให้ไอนํ้าขึ้นได้ ใส่กระทงกระดาษลงในถ้วยจีบหยอดแป้ง แล้วนำไปนึ่งในนํ้าเดือดปุดๆ หรี่ไฟลง

๑๗. พิมพ์ดอกจอก ลักษณะของพิมพ์เป็นทองเหลือง ทำเป็นรูปดอกไม้โปร่ง มีเหล็กยาวสำหรับถือติดกับตัวพิมพ์

วิธีการใช้ ดอกจอกเป็นขนมที่ต้องทอดในน้ำมันมากๆ ก่อนใช้ แช่พิมพ์ในนํ้ามันร้อนจัด เพื่อให้พิมพ์ร้อนเสียก่อน เมื่อพิมพ์ร้อนแล้วจุ่มพิมพ์ลงในแป้งที่ผสมไว้ เพื่อให้แป้งเกาะพิมพ์เป็นรูปทรงก่อน จึงนำลงทอดในนํ้ามันร้อนปานกลาง พอสุกค่อยๆ ใช้ปลายมีดแซะขนมออกจากพิมพ์ ขนมจะหลุด ง่าย ตักขนมขึ้นจากนํ้ามันวางบนก้นถ้วยขนาดเล็กเท่ากับถ้วย ข้าวต้มที่ควรไว้ กลีบขนมจะบานออกเป็นรูปดอกไม้ เมื่อเย็น จึงเก็บบรรจุถุงหรือขวดโหลไว้เพื่อให้กรอบนาน ส่วนพิมพ์ ล้างให้สะอาด ก่อนเก็บทาด้วยนํ้ามันอีกครั้ง แล้วจึงแขวนไว้ ในที่ลมโกรก

๑๘. พิมพ์ครองแครงหรือร่องกดครองแครง ลักษณะของพิมพ์ เป็นไม้หรือพลาสติกมีร่องถี่ๆ เป็นแนวยาว มีด้ามถือ ถ้าร่องห่างหรือใหญ่ไป ขนมจะไม่สวย ควรเลือกร่องถี่พอสมควร และร่องลึก

วิธีการใช้ โรยนวลแป้งบนตัวพิมพ์ แล้วเคาะออก อย่าให้หนามาก ปั้นแป้งเป็นก้อนกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง ๑ เซนติเมตร ใช้หัวแม่มือกดแป้งออกนอกตัว ก็จะม้วนเป็นตัวหอย มีรอยหยักลึกตามพิมพ์

๑๙. พิมพ์พลาสติกรูปร่างต่างๆ ลักษณะของพิมพ์ เป็นพลาสติกรูปร่างต่างๆ เช่น รูปกระต่าย รูปปลา รูปนก รูปแมว จะทำความสะอาดง่าย เมื่อใช้แล้วแช่นํ้า สิ่งสกปรกจะหลุดออกได้ง่าย โดยไม่ต้องออกแรงถูมาก ทนความร้อนไม่ได้ วิธีการใช้ ใช้ตัดแป้งขนมปัง หรือแป้งขนมคุกกี้ ส่วนขนมไทย ใช้ตัดส่วนผสมประเภทกวนได้แก่ ถั่วกวน เผือกกวน มันกวน เป็นต้น

ตกแต่งเพิ่มเติมอีกนิดหน่อยตามรูปร่างที่ตัดจะได้รูป สัตว์ตามต้องการ

๒๐. พิมพ์ทองเอก และสำปันนี ลักษณะของพิมพ์ เป็นแท่งยาว กว้างยาวประมาณ ๒ X ๙ นิ้ว หนา ๑ นิ้ว ขุดลงไปในเนื้อพลาสติกเป็นรูปลายต่างๆ เช่น นก ดอกไม้ ผลไม้ พิมพ์ชนิดนี้เหมาะสำหรับใช้ทำขนมทองเอก สำปันนี ถ้าพิมพ์ลายละเอียดเกินไป ขนมออกมาจะไม่สวย เพราะจะเห็นลายไม่ชัดเจน ถ้าลายหยาบแต่ลึก ขนมที่ออกมาจะมีลายคมชัดเจน สวยงามมาก และทำความสะอาดง่ายด้วย

วิธีการใช้ ใส่เนื้อขนมลงในช่องที่เป็นลวดลาย กดให้แน่น แกะออก ถ้าติดพิมพ์หรือขนมค่อนข้างแฉะ ใช้แป้งมัน โรยที่พิมพ์ การโรยแป้งไม่ต้องโรยมาก ถ้าโรยแป้งหนาไป ขนมออกมาจะไม่สวย เมื่อโรยแป้งเคาะแป้งออกให้เหลือแค่ติดพิมพ์ จากนั้นกดเนื้อขนมลงไป เคาะออก ขนมจะเป็นลวดลายตามต้องการ

๒๑. พิมพ์รูปเรือ ลักษณะของพิมพ์ หัวและท้ายจะเรียวแหลม คล้ายรูปเรือ ใช้ทำขนมไทย เช่น ขนมหน้านวล ขนมผิง วุ้นต่างๆ ส่วนเบเกอรี่ ใช้ทำพวกพาย เช่น พาย สับปะรด

วิธีการใช้ ถ้าเป็นขนมหน้านวลหรือขนมผิง ทาด้วยนํ้ามันพืชหรือนํ้ามันหมูด้านในพิมพ์บาง ๆ ก่อนจะใส่ส่วนผสมของแป้ง และนำไปอบ ขนมจะไม่ติดพิมพ์ เวลาสุกขนมจะล่อนออกจากพิมพ์ได้ดี เมื่อใช้เสร็จแล้วล้างนํ้าให้สะอาด เช็ดให้แห้งซ้อนกันไว้ เก็บใส่กล่องเก็บไว้ในที่ไม่มีมด หนู หรือ แมลงสาบ

๒๒. พิมพ์กดวุ้น ลักษณะของพิมพ์จะเป็นอะลูมิเนียม เหล็ก หรือทองเหลือง เป็นเส้นคมขดหรือตัดเป็นรูปต่างๆ เช่น ดอกไม้ ใบไม้ นก สัตว์ต่างๆ ใช้สำหรับกดลงไปบนขนมหรือของที่ไม่แข็งมาก เป็นการตกแต่งให้สวยงาม ที่ใช้กันมาก ได้แก่ กดลงไปบนวุ้นกะทิหรือวุ้นหวานต่างๆ ถ้ากดลงบนผัก หรือผลไม้ แล้วนำไปประกอบอาหารก็ได้เช่นกัน

๒๓. แหนบจีบขนม ลักษณะคล้ายแหนบที่ใช้ถอนขน แต่มีลักษณะแบนเรียบ หรือมีลวดลาย เพื่อความสวยงาม ทำด้วยทองเหลือง หรือเหล็ก ใช้ทำขนมจีบ ขนมช่อม่วง ปั้นสิบ

วิธีการใช้ เมื่อปั้นแป้งเป็นโครงร่างตามต้องการ ใช้แหนบบีบริมให้เกิดรอยหยัก ในกรณีขนมปั้นสิบ

ถ้าเป็นขนมช่อม่วง ปั้นเป็นก้อนกลม และจีบตั้งแต่ส่วนกึ่งกลางของลูกกลม ให้เป็นกลีบดอกด้านใน และจีบไล่ออกเป็นกลีบดอกด้านนอก

๒๔. เขียง เขียงที่ใช้ทำขนมหรือเรียกว่า เขียงหวาน ลักษณะจะกลมหรือเป็นรูปสี่เหลี่ยม แต่จะบางกว่าเขียงคาว เขียงคาวส่วนใหญ่จะเป็นรูปกลมหนา ทำด้วยไม้มะขาม เพื่อความทนทาน งานหนัก ในการหั่นสับอาหารต่างๆ ส่วน เขียงหวานรูปร่างจะสวยและบอบบางกว่า เพราะงานที่ทำจะเป็นงานหั่นซอยเสียเป็นส่วนใหญ่ เช่น หั่นใบเตย ซอย ใบมะกรูด หั่นผลไม้

๒๕. ทัพพีทึบ ใช้คู่กับหม้อ ใช้คนอาหารในหม้อ ตักอาหารจากหม้อใส่ภาชนะ

๒๖. ตะหลิวโปร่ง ใช้สำหรับผัดอาหาร ตักอาหารขึ้นจากส่วนที่เป็นนํ้า

๒๗. ทัพพีกลมเจาะรู สำหรับตักอาหารในนํ้า โดยไม่ติดนํ้าขึ้นมาด้วย ทำให้สะดวกรวดเร็วขึ้น ใช้ในความมุ่งหมาย ที่แตกต่างไปจากตะกร้อ เพราะทัพพีมีความลึกเล็กน้อย ตะกร้อลึกมาก เวลาสะบัดอาหารจึงไม่หลุด ทัพพีนี้ใช้ช้อนอาหารขึ้นจากส่วนที่เป็นนํ้า

๒๘. กระชอนลวด ใช้สำหรับลวกเส้นหมี่ เส้นก๋วยเตี๋ยว เนื้อสัตว์ ผัก ในหม้อนํ้าเดือด ใส่อาหารที่ทอดหรือลวกไว้ให้สะเด็ดน้ำ ใช้ยีผักผลไม้ หรือกะทิที่เป็นลูกให้ละเอียด ใช้ยีแป้งเวลาทำขนมขี้หนู ใช้ทำไข่ร่างแหในการทำขนม หันตรา หรืออาหารว่างคาว คือ หรุ่ม เป็นต้น

๒๙. มือแมวหรือคันชัก ลักษณะมือแมวขูดมะพร้าว จะคล้ายกับมือของแมวจริง ๆ มะพร้าวที่ขูดออกมาจะเป็นฝอย แต่ถ้าขูดมะพร้าวอ่อนที่ใช้ทำข้าวเหนียวเปียก ต้องให้ติดกันเป็นชิ้นใหญ่ ส่วนคันชักใช้ขูดมะพร้าวทึนทึกให้เป็นเส้นมะพร้าวที่ขูดด้วยคันชัก เส้นมะพร้าวจะใหญ่กว่าที่ขูดด้วย มือแมว

วิธีการใช้ ใช้ขูดมะพร้าวทั้งกะลา โดยขูดเอาเนื้อขาว ๆ ขูดวงรอบนอกเข้าหาข้างในสุด จะขูดง่ายกว่าขูดสะเปะสะปะ

๓๐. ที่ตีไข่ มีทั้งชนิดที่ตีด้วยมือและใช้ไฟฟ้า ที่ตีของไทยก็เหมือนกับของฝรั่งหรือของต่างชาติ เพราะได้รับอิทธิพลการทำขนมมาจากต่างชาติ ส่วนใหญ่จะเป็นขนมที่มีส่วนผสมไข่เป็นหลัก เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ได้รับอิทธิพลมาจากโปรตุเกส ขนมไข่ ขนมสาลี่ ดัดแปลงมาจากพวกขนมเค้ก

วิธีการใช้ ที่ตีไข่แบบใช้มือตี ต้องเลือกภาชนะที่ใช้ตี ปากไม่กว้างจนเกินไป เพราะไข่จะขึ้นฟูได้น้อย ภาชนะตลอดจนที่ตีไข่ต้องแห้งสนิท ไม่เปื้อนน้ำมัน หรือไม่มีส่วนผสมที่เป็นนํ้าหยดลงไปในไข่ การตีไข่ต้องตีให้อากาศแทรกตัวเข้าไปในไข่ให้มาก จึงจะขึ้นดี โดยวิธีตีเข้าหาตัว ไม่ใช้วิธีตีกดลงไปตรงๆ จะทำให้ไข่ขึ้นช้า ถ้าเป็นที่ตีไข่แบบใช้ไฟฟ้าก็จะง่ายขึ้น เพราะจะมีสปีดบอกไว้แล้วที่ตัวเครื่อง เมื่อใช้แล้วทำความสะอาดตามซอกมุมให้ทั่ว ถ้าเป็นแบบใช้ไฟฟ้า อย่าให้นํ้าถูกมอเตอร์ เพราะจะทำให้ไฟฟ้าช็อตได้ ถ้าสกปรกมาก ก็ใช้ผ้าชุบนํ้าบิดหมาดๆ เช็ดให้สะอาด

๓๑. มีด มีอยู่หลายชนิด

มีดหั่น ตัวมีดทำด้วยเหล็กขาว ไม่ขึ้นสนิม ยาว ประมาณ ๕ นิ้ว ไม่รวมด้าม สะดวกในการตัดหรือหั่น

มีดปอก มีใบมีดเล็กกว่ามีดหั่น ในภาพเป็นมีดทอง ใช้ปอกผลไม้ไม่ให้ดำ เช่น ปอกมะม่วง

มีดสับ เป็นมีดทำด้วยเหล็กขาว ไม่ขึ้นสนิม ตัวมีดหนาหนักเพื่อให้มีนํ้าหนักใช้สับอาหารให้ละเอียดเท่าที่ต้องการ

มีดคว้าน ทำด้วยทองเหลือง หรือเหล็กขาว มีด ใบมีดเรียวแหลม ใช้คว้านไส้ผักผลไม้ คว้านเมล็ดได้สะดวก

๓๒. ครก ครกที่ใช้เป็นครกหิน หรือ ครกไม้ ครกดินก็ได้ ตามแต่ละบ้านจะมี ส่วนใหญ่ไว้ใช้โขลกถั่วลิสงคั่ว งาคั่ว เผือกบด กล้วยบด ทำน้ำพริก

๓๓. กรวย สำหรับบรรจุไส้กรอก ใช้บรรจุไส้ของไส้กรอก ชนิดต่างๆ เช่น ไส้กรอก ข้าวโพด โดยสอดที่ปลายไส้ด้านหนึ่ง แล้วใช้ช้อนเล็กๆ อัดไส้ลงไป

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

1 × one =