วิธีป้องกันอาการปวดศีรษะ

อาการปวดศีรษะเป็นปัญหาสุขภาพอย่างหนึ่งที่คนปรึกษาแพทย์มากที่สุด แม้วงการแพทย์จะยังไม่เข้าใจสาเหตุที่แท้จริง แต่นักวิจัยก้าวหน้าไปไกลทีเดียวในการหาวิธีรักษา

อาการปวดศีรษะส่วนใหญ่ ได้แก่ ปวดจากความเครียด ปวดไมเกรน และปวดศีรษะเป็นชุดๆหรือปวดใบหน้าครึ่งซีก เกี่ยวข้องกับความไม่สมดุลของสารเคมีซึ่งทำหน้าที่เป็นสื่อประสาท ตัวการสำคัญอาจได้แก่สารที่เรียกว่า เซโรโทนิน(serotonin) ซึ่งมีผลต่อหลอดเลือดรอบศีรษะและลำคอ รวมทั้งการส่งสัญญาณเจ็บปวดไปยังสมอง

แม้ว่าอาการปวดศีรษะร้อยละ 95 จะไม่เกี่ยวข้องกับโรคอื่น คุณก็ไม่ควรพยายามทนให้หายเอง นายแพทย์เจ.ดี. บาร์เทิลสัน ที่ปรึกษาด้านระบบประสาทประจำเมโยคลินิกในเมืองโรเชสเตอร์ รัฐมินนิโซตา กล่าวว่า “หากรักษาอาการปวดศีรษะตั้งแต่เริ่มเป็น ก็จะควบคุมอาการของโรคได้เร็วขึ้น”

ต่อไปนี้คือสิ่งที่คุณควรทราบ

ไปพบแพทย์เมื่อ

–         ปวดศีรษะสับดาห์ละ 3 ครั้งขึ้นไป

–         ต้องใช้ยามากกว่าขนาดที่แพทย์แนะนำ

–         เกิดอาการปวดศีรษะเนื่องจากออกกำลัง ไอ ก้มตัว หรือมีเพศสัมพันธ์

–         ปวดศีรษะโดยมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น หายใจขัด เป็นไข้ เวียนศีรษะ คอแข็ง พูดไม่ชัด ชา สับสน หรืออาเจียนอย่างแรง

–         อาการปวดศีรษะมีลักษณะที่เปลี่ยนไป หรือเริ่มต้นเป็นหลังอายุ 50 ปี

–         มีอาการปวดศีรษะรุนแรงกว่าที่เคย

ปวดศีรษะจากความเครียด (Tension-Type Headaches) อาการปวดแบบนี้อาจเกิดเป็นครั้งคราวหรือเรื้อรัง (มากกว่า 15 วันต่อต่อเดือน)

อาการ รู้สึกเหมือนศีรษะถูกบีบรัดอย่างเบาๆถึงปานกลาง ปวดหรือตื้อ มักจะปวดศีรษะทั้งสองข้าง โดยอาจจะปวดเพียง 30 นาที หรือนานถึงเจ็ดวัน

การรักษา อาการปวดศีรษะเป็นครั้งคราวบรรเทาได้ด้วยยาแก้ปวดที่จำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไป หากปวดเรื้อรัง แพทย์อาจจ่ายยาคลายกล้ามเนื้อหรือยาต้านความซึมเศร้าเพื่อลดความถี่ของอาการที่เกิดขึ้น

การประคบบริเวณที่ปวดด้วยความร้อนหรือความเย็น หรือนวดขมับเบาๆ อาจช่วยได้เช่นเดียวกับการออกกำลังกายเป็นประจำ หรือการฝึกผ่อนคลาย เช่นฝึกโยคะ และทำสมาธิ

ปวดศีรษะไม่เกรน (Migraine Headaches) อาการปวดศีรษะแบบนี้พบได้มากเช่นกัน แม้จะน้อยรายกว่าปวดจากความเครียด โดยสามในสี่ของผู้มีอาการเป็นผู้หญิง คนที่ปวดศีรษะไมเกรนอย่างน้อยร้อยละสิบจะมีสัญญาณเตือนล่วงหน้าที่เรียกว่าออรา(aura) บางรายมีความผิดปกติของสายตา เช่น เห็นแสงวับแวบ และบางรายรู้สึกชาหรือวูบวาบที่ลิ้น แขน หรือใบหน้า

อาการ อาการปวดตุบๆ ซึ่งมักจะเป็นที่ศีรษะข้างเดียว รุนแรงขึ้นเมื่อเคลื่อนไหวตามปกติ เช่น เดินขึ้นลงบันได อาการที่อาจเกิดร่วมกัน ได้แก่ คลื่นไส้ รู้สึกไวต่อแสงและเสียง จะปวดอยู่นาน 4-72 ชม.

อย่าใช้ยาแก้ปวดมากเกินไป

คนที่ปวดศีรษะเรื้อรังจำนวนมากมีอาการสะท้อนกลับจากยาแก้ปวด ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่ความเจ็บปวดหวนกลับมาและอาจรุนแรงกว่าที่เคยเป็น หลังจากยาแก้ปวดหมดฤทธิ์ คนไข้ที่ไม่ทราบว่าอาจเกิดเหตุการณ์เช่นนี้จะรับประทานยาแก้ปวดเข้าไปอีก ซึ่งกว่าจะแก้ผลเสียที่เกิดขึ้นได้อาจต้องใช้เวลาเป็นเดือนๆ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

3 × four =