วิธีปฐมพยาบาลผู้ป่วยกรณีมีบาดแผล

แผลฉีกขาด

ทำการห้ามเลือดโดยใช้ผ้าสะอาดหรือผ้าก๊อซปิดบาดแผลไว้ควรสังเกตการเสียเลือดเพิ่ม ถ้าเลือดออกไม่หยุดให้ใช้ผ้ายืดพันทับอีกรอบ กรณีเป็นบาดแผลบริเวณแขน ขา และไม่มีกระดูกหักร่วมด้วยให้ยกส่วนนั้นให้สูง เพื่อเป็นการป้องกันการติดเชื้อ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสเลือดของผู้ป่วยโดยตรง

แผลอวัยวะถูกตัดขาด

เก็บอวัยวะที่ถูกตัดขาด นำส่วนที่ถูกตัดขาดใส่ในถุงพลาสติกแล้วรัดปากถุงให้แน่น ใส่ในภาชนะที่มีน้ำแข็งอีกชั้น จากนั้นห้ามเลือดบริเวณปลายอวัยวะส่วนที่ถูกตัดขาดตามขั้นตอนการห้ามเลือดฉีกขาด ห้ามนำอวัยวะที่ถูกตัดขาดแช่ในน้ำแข็งโดยตรง

แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก

ใช้น้ำสะอาดล้างแผล เพื่อทำความสะอาดและลดอาการปวดแสบปวดร้อน ถอดเสื้อผ้าและเครื่องประดับที่ถูกเผาไหม้ออก เสื้อผ้าที่ถูกเผาไม้อาจติดกับผิวหนัง เมื่อถอดเสื้อผ้าออกและพบว่ามีการดึงรั้ง ควรหลีกเลี่ยงส่วนนั้น ห้ามใช้ น้ำมัน โลชั่น ยาสีฟันหรือยาปฏิชีวนะทาบนแผล ห้ามทำให้ตุ่มพองแตก

แผลที่ศีรษะ

ห้ามเลือดด้วยวิธีปิดแผลโดยตรง ถ้าเลือดออกมากใช้ผ้ายืดพันรัด ควรสังเกตอาการทางสมองควบคู่ด้วย เช่น ซึม พูดคุยสับสน ปวดศีรษะมาก อาเจียนพุ่ง เป็นต้น

แผลจากวัตถุหักคา

ห้ามดึงวัตถุที่หักคานั้นออก ยึดวัตถุที่หักคากับอวัยวะนั้นให้อยู่นิ่ง ห้ามเลือดโดยใช้ผ้าแห้งสะอาดปิดแผลหนาๆ ปิดบริเวณรอบวัตถุนั้น

แผลไหม้จากสารเคมี

ใช้น้ำสะอาดชำระล้างหลาย ๆครั้ง โดยให้น้ำไหลผ่าน ในบริเวณที่ถูกสารเคมีเพื่อลดความเข้มข้นของสารเคมีลงให้ได้มากที่สุด

กระดูกหัก

การดูแลเบื้องต้น กรณีไม่มีบาดแผลประคบด้วยน้ำแข็งบริเวณที่ปวดบวมผิดรูป เพื่อลดอาการปวดบวม จากนั้นดามกระดูกยึดตรึงส่วนที่หักให้อยู่นิ่งมากที่สุด กรณีกระดูกหักและมีแผลเปิดเห็นมีกระดูกโผล่ ห้าม ดันกระดูกกลับเข้าที่เด็ดขาด และให้ทำการปฐมพยาบาล ตามขั้นตอนการห้ามเลือด แผลจากวัตถุหักคา

ภาวะเลือดตกใน

เป็นอาการของการเสียเลือดภายในที่อาจเกิดภาวะช็อกได้ สังเกตจากอาการซึม ซีด เหงื่อออก ตัวเย็น ชีพจรเบาเร็ว หายใจเร็ว คลื่นไส้ อาเจียน กระหายน้ำ

การดูแลเบื้องต้น ประสานขอความช่วยเหลือโดยด่วนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดท่าให้ผู้ป่วยอยู่ในท่าสบาย ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย ห้ามให้อาหารหรือน้ำดื่มจนกว่าทีมช่วยเหลือจะมาถึง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

2 × three =