วิธีเสริมสร้างสุขภาพเชิงพุทธ

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสิ่งที่มนุษย์ทุกคนปรารถนาที่สุดคือการมีสุขภาพดีและมีอายุยืนยาวเพื่ออยู่กับคนที่เรารัก ข่าวดีและเป็นความมหัศจรรย์สำหรับคนไทยทุกคน  ทุกสถานะ คุณไม่ต้องใช้เงินก็สามารถมีสุขภาพดีได้  จากผลงานวิจัยที่ชนะเลิศคว้า ๒ รางวัล วิทยานิพนธ์ดีเด่นประจำปี ๒๕๕๓ จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยและรางวัลการประกวดวิทยานิพนธ์ระดับบัณฑิตศึกษาเครือข่าย สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)สาขาการพัฒนาสังคม ของ วิไลวรรณ  อาจาริยานนท์  ช่วยไขรหัสลับถึงสาเหตุที่บางคนมีสุขภาพดี บางคนขี้โรค บางคนอายุสั้น บางคนอายุยืน เป็นการค้นหาคำตอบจากองค์ความรู้การส่งเสริมคุณภาพเชิงพุทธจากหลักพุทธธรรมคำสอน (Document Research) และจากการศึกษาผู้มีอายุยืนว่าเขามีวิธีการดูแลสุขภาพอย่างไรจึงมีอายุยืนด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-dept Interview)

ประกอบกับการสังเกตแบบมีส่วนร่วมกัน (Participant Observation) โดยผู้วิจัยนำทั้งสองวิธีมาเปรียบเทียบกันว่ามีความสอดคล้องกันหรือไม่  เพื่อนำเสนอเป็นแนวทางในการนำองค์ความรู้การเสริมสร้างสุขภาพมาใช้ในสังคมไทย ประยุกต์ใช้องค์ความรู้ในการเสริมสร้างสุขภาพอย่างง่าย มุ่งหมายเพื่อเตือนสติให้คนไทยเสริมสร้างสุขภาพของตนเอง เพื่อประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิตที่ดีและยังเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนของประเทศไทย

ผลการศึกษาพบว่า องค์ความรู้ในการเสริมสร้างสุขภาพเชิงพุทธ กับองค์ความรู้ในการเสริมสร้างสุขภาพของผู้มีอายุยืน มีความสอดคล้องและเป็นไปในทำนองเดียวกันในด้านมีเหตุท่ำให้คนอายุยืนหรืออายุสั้น เนื่องมาจากอดีตกรรมและปัจจุบันกรรม เว้นจากปาณาติบาต เป็นผู้ทำความสบายแต่ตน บริโภคสิ่งที่ย่อยง่าย รู้จักประมาณในสิ่งที่สบาย เที่ยวไปในกาลอันสมควร ประพฤติเพียงดังพรหม ฯลฯ

ส่วนหลักธรรมที่เป็นเหตุแห่งความมีอายุยืน คือ อิทธิบาท ๔ สำหรับเหตุที่ทำให้คนตายก่อนอายุขัย และยังไม่สิ้นกรรม คือ อกุศลกรรม การปฏิบัติตนไม่สม่ำเสมอ ไม่ถูกอนามัย และความพยายามของตนเองหรือคนอื่น ได้แก่ การฆ่าตัวตายและอุบัติเหตุ เหตุเหล่านี้พระพุทธศาสนาอธิบายรวมว่า คือ โรค จำแนกเป็นโรคทางกายและโรคทางใจ

สาเหตุของโรคทางกายมี ๕ อย่าง คือ

๑.  ความไม่สมดุลของธาตุ ๔ ในร่างกาย

๒.  การเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล

๓.  การบริหารกายไม่สม่ำเสมอ

๔.  วิบากกรรม

๕.  สาเหตุอื่น

สาเหตุของโรคทางใจ คือ กิเลสและตัณหา การแก้ปัญหาสุขภาพและความเจ็บป่วย พุทธวิธีใช้หลักอริยสัจ ๔ กล่าวคือ โรคเกิดจากสาเหตุใด แก้ที่สาเหตุนั้น โรคทางกายรักษาโดยใช้เภสัชสมุนไพร อาหาร การผ่าตัด ความร้อน การออกกำลังกาย การไม่ใช้ความเพียรเกินกำลัง การพักผ่อนอิริยาบถ การนอน การเจริญสมาธิ การอยู่กับธรรมชาติเหมาะสม การให้รับประทานของบางอย่าง การสวดพระปริตรและคำพูดด้วยเมตตา ธรรมโอสถ

ส่วนการรักษาโรคทางใจใช้ศีล สมาธิ ปัญญา อนึ่ง คุณธรรมของผู้พยาบาลไข้และคนไข้เป็นปัจจัยสำคัญในการแก้ปัญหาสุขภาพทุกกรณี อีกด้านหนึ่งคือ การดูแลสุขภาพจิต วิธีการเสริมสร้างสุขภาพจิตมี ๓ วิธี คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ในมรรคมีองค์ ๘ พบความแตกต่างเพียงเล็กน้อยระหว่างองค์ความรู้ในการเสริมสร้างสุขภาพทางพุทธศาสนา กับองค์ความรู้ในการเสริมสร้างสุขภาพของผู้มีอายุยืน ได้แก่ ผู้มีอายุยืนมองโรคทางใจเป็นเรื่องของภาวะความเครียด การแก้ปัญหาสุขภาพและความเจ็บป่วยโดยใช้ความร้อน และการรักษาโรคอมนุษย์เข้าสิง  การให้กินของบางอย่าง การสวดพระปริตร คำพูดด้วยเมตตา ไม่ปรากฎในผู้มีอายุยืน เป็นการรักษาที่มีในสมัยพุทธกาลเท่านั้น

แนวทางในการนำองค์ความรู้ในการเสริมสร้างสุขภาพมาใช้ในสังคมไทยปัจจุบัน มีเป้าหมายการนำองค์ความรู้มาใช้อย่างมีประสิทธิภาพใน ๓ ประการ คือ พัฒนา ปลูกฝัง รักษา องค์ความรู้ในการเสริมสร้างสุขภาพมาใช้ในสังคมไทย ด้วยแนวทางใน ๖ ระดับ ดังนี้

๑. ครอบครัว

๒.  สังคม

๓. กระทรวงสาธารณสุข

๔.  รัฐบาล

๕.  องค์กรศาสนา

๖.  บุคคล

นอกจากนี้ผลการวิจัยยังมี ข้อเสนอแนะควรเผยแพร่ความรู้ในการเสริมสร้างสุขภาพที่ผู้วิจัยประยุกต์เป็น ๑๐ อ. คือ

๑.  อาหาร

๒.  อากาศ

๓.  อาภรณ์

๔.  ออกกำลังกาย

๕.  อุจจาระ

๖.  อนามัย

๗.  เอนนอน

๘.  อัปปมาทะ

๙.  อารมณ์

๑๐. อิทธิบาท ๔

ในรูปศิลปะเพลง เพื่อเข้าถึงจิตใจคนได้ง่ายและรวดเร็ว ผ่านสื่อวิทยุ โทรทัศน์ ละคร กิจกรรมออกกำลังกายเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ ปลูกฝังความรู้สู่จิตใจคนทุกเพศทุกวัยอย่างง่าย ๆ จะทำให้รักษาองค์ความรู้ในการเสริมสร้างสุขภาพไว้ได้อย่างยั่งยืนในสังคมไทย ตัวอย่างเพลง ๑๐ อ. (ปัจจุบันได้ใช้เป็นสื่อในการเรียนการสอนสถานศึกษา และเผยแพร่ทางสถานีวิทยุบางแห่ง)

เนื้อเพลง ๑๐ อ.ใครหนอบอกทีอายุยืนดีวิธีอย่างไร ๑๐ อ. ขอเฉลยไขว่าทำอย่างไรให้อายุยืน

อ.๑ นั้นคือ อาหาร ๕ หมู่ เลือกทาน ก่อนจะเคี้ยวกลืนอย่าหนัก มื้อเย็นกลางคืนเดี๋ยวจะพุงยื่น โรคอ้วนตามมา

อ.๒  อากาศดีๆ ธรรมชาติมี ป่าเขาทุ่งนาอาภรณ์ นั้นคือ เสื้อผ้าร้อนหนาว จัดหา นั่นแหละ

อ.๓ อ.๔  ออกกำลังกายจะได้ร่างกายแข็งแรงนะเธอ ขับถายสม่ำเสมอทุกวันนะเธอ นี่แหละ

อ.๕ อ.๖  คืออนามัยสะอาดร่างกาย สะอาดห้องนอน

อ.๗  นั้นคือเอนนอน เวลาพักผ่อน หลับนอนเพียงพอ

อ.๘  อัปปาทะ  ต้องจำไว้นะประมาท อาจตาย

อ.๙  อารมณ์ แจ่มใสทุกข์ร้อนห่างไกล อย่ารับเข้าตัว

อ.๑๐ อิทธิบาท ๔ คำพุทธสอนดี ต้องจำไว้นะ คำสอน ก็คือ ฉันทะ อีกวิริยะ จิตตะ วิมังสา มุ่งมั่น และมีความหวัง มุ่งสร้างพลัง ชีวิตชีวาอายุขืนยาวถ้วนหน้า ๆ คงเป็นเพราะว่า เรามี ๑๐ อ.

ความมหัศจรรย์ของการส่งเสริมสุขภาพเชิงพุทธสามารถสร้างสุขภาพดีแบบยั่งยืนได้ ด้วยการนำธรรมะกับเสียงเพลงมาประกอบในการเต้นออกกำลังกายต่างๆ ช่วยปลูกฝังองค์ความรู้ด้านสุขภาพทั้งส่งเสริมธรรมะไปกับเสียงเพลง ตอกย้ำในเรื่องของจิตใจและวิธีการดูแลสุขภาพด้วยตนเอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

11 − four =